RSS

บรรษัทภิบาล การบริหารกิจการที่ดีเพื่อความยั่งยืนขององค์กร

13 ธ.ค.

ดร.พงศ์ศรันย์ พลศรีเลิศ
phongzahrun@gmail.com

ช่วงที่ผมเขียนบทความนี้กำลังปฏิบัติหน้าที่เป็นวิทยากรและที่ปรึกษาให้กับรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง ในการให้ความรู้และพัฒนาแนวทางการปฏิบัติตามหลักการบริหารกิจการที่ดี หรือ ที่เราเรียกกันว่า บรรษัทภิบาล (Good Corporate Governance) ซึ่งเป็นหลักการที่มีพื้นฐานเช่นเดียวกับหลักธรรมาภิบาล หรือ Good Governance ก็ขึ้นอยู่ว่า เราอยากจะใช้คำว่าอะไรที่จะเหมาะสมกับกิจการของเรา โดยส่วนใหญ่ที่ผมพบเห็นก็คือ ถ้าเป็นองค์กรภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเอกชน หรือ รัฐวิสาหกิจ ส่วนใหญ่จะใช้คำว่า บรรษัทภิบาล หรือ หลักการบริหารกิจการที่ดี ส่วนสำหรับภาครัฐ และส่วนราชการ ผมจะพบเห็นการใช้คำว่า ธรรมาภิบาล เป็นส่วนใหญ่ นะครับ

เรื่องธรรมาภิบาล หรือ บรรษัทภิบาล ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเมืองไทย เราเริ่มมีการพูดถึงกันอย่างมากในบ้านเรา หลังจากวิกฤติการณ์ต้มยำกุ้ง ซึ่งเป็นวิกฤติการณ์ทางการเงินของเอเชีย เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2540 ที่เขาสรุปเอากันว่ามีจุดเริ่มต้นมาจากภาวะฟองสบู่แตกของประเทศไทย แล้วลามไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย จนเป็นที่กังวลว่า จะลุกลามกลายเป็นวิกฤติการณ์ทางการเงินของโลก

แต่เรื่องธรรมาภิบาล ก็ถูกพูดถึงมาก่อนหน้านั้นอีกเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี เริ่มจากการที่ธนาคารโลกได้ให้ความสำคัญต่อการบริหารประเทศของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ต้องคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาล ที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม มีสิทธิมีเสียง และรัฐบาลต้องบริหารประเทศด้วยความโปร่งใส ปราศจากการคอรัปชั่น

กลับมาถึงเรื่องของบ้านเราดีกว่านะครับ ภายหลังจากที่เกิดวิกฤติการทางการเงิน ในปี พ.ศ.2540 กิจการหลายแห่งต้องปิดตัวลง โดยเฉพาะสถาบันทางการเงิน และบริษัทที่มีหนี้สินจากการกู้ยืมเงินสกุลต่างประเทศ โดยเฉพาะเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ที่มีมูลค่าหนี้เพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัว จากอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวที่ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์ จาก 25 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ กลายเป็น กว่า 50 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

คำถามก็คือ ทำไม บรรษัทภิบาล หรือ การบริหารกิจการที่ดีกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกนำมาพูดถึงในสมัยนั้น จากภาวะเศรษฐกิจที่กำลังเฟื่องฟูในช่วง 3-5 ปี ก่อนที่จะเกิดวิกฤติการทางการเงิน นักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างประเทศให้ความสนใจที่จะมาลงทุนในประเทศไทยอย่างมาก ประเทศไทยมีอัตราดอกเบี้ยในประเทศทั้งเงินกู้และเงินฝาก สูงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคยุโรป ญี่ปุ่น และ สหรัฐอเมริกา อัตราการเติบโตของ GDP ประมาณร้อยละ 8-10 ต่อปี เงินต่างประเทศกำลังหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทยและในภูมิภาคอาเชียนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

สถาบันการเงินหลายแห่ง ได้เงินกู้ยืมจากต่างประเทศมาในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ แล้วนำมาปล่อยกู้ให้กับนักลงทุนในประเทศในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า ทำให้มีช่องทางในการแสวงหากำไรจากอัตราดอกเบี้ย การเร่งรัดให้มีการปล่อยสินเชื่อเป็นภาพที่เห็นได้เป็นปกติในธุรกิจการเงินธนาคาร ตลาดหุ้นเติบโตดี เพราะมีนักลงทุนบางส่วนกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินมาลงทุนในตลาดหุ้น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เติบโตดี เพราะได้เงินกู้สนับสนุนจากสถาบันการเงิน
แต่ท่านรู้หรือไม่ว่า ภายใต้การเร่งรัดให้มีการปล่อยสินเชื่อนั้น มีการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้โดยที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันที่เพียงพอ เช่นกรณีที่เกิดขึ้นกับธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ หรือ บีบีซี ถูกเปิดโปงในปี 2538 โดยคณะผู้บริหารธนาคารกระทำทุจริตทุกรูปแบบ เช่น ปล่อยกู้โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน สร้างมูลค่าหลักประกันที่สูงเกินความจริง การทำธุรกรรมการเงินแบบนิติกรรมอำพราง ฉ้อฉลปล่อยเงินกู้ให้กับพรรคพวกกันเองโดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

หลังจากเรื่องการทุจริตถูกนำมาเปิดเผย ลูกค้าของธนาคารบีบีซี ต่างแห่ไปถอนเงิน เพราะขาดความมั่นใจ จนกระทั่งฐานะทางการเงินของธนาคารสั่นคลอน สภาพคล่องทางการเงินหดหายจากการแห่ถอนเงินของลูกค้า สุดท้าย ธนาคารบีบีซี จึงต้องปิดฉากลง และนำไปสู่วิกฤติฟองสบู่ในปี 2540 ที่มีสถาบันการเงินและไฟแนนซ์ปิดตัวลงถึง 56 แห่ง

ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่ขาดหลักบรรษัทภิบาล หรือ การบริหารกิจการที่ดี

ต้องบอกก่อนนะครับว่า การบริหารกิจการที่ดี ไม่ได้มีความหมายเพียงเฉพาะ การไม่คอรัปชั่นเท่านั้น แต่มีหลักการอื่นๆ ประกอบอีกมาก ที่ผมต้องขอให้ท่านผู้อ่านทำความเข้าใจไปกับผมเรื่อยๆ แล้วสุดท้ายจะพบว่า แท้จริงแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย

ผมขอนำเสนอให้ท่านผู้อ่านเข้าใจหลักพื้นฐานของการบริหารกิจการที่ดี หรือ บรรษัทภิบาล ด้วยหลักการปฏิบัติที่สำคัญ 7 ประการ คือ

1.หลักสำนึกในหน้าที่รับผิดชอบ (Responsibility) ไม่ว่าท่านจะทำงานในตำแหน่งหน้าที่ใดอยู่ในองค์กร จะเป็นเจ้าของกิจการ เป็นประธานบริษัท เป็นผู้จัดการ เป็นพนักงาน หรือเป็นแม่บ้าน คนสวน พนักงาน รปภ. หลักการมีสำนึกในหน้าที่ความรับผิดชอบเป็นพื้นฐานของการเป็นบุคลากรที่ดีมีคุณภาพขององค์กร ซึ่งควรมีพฤติกรรมแสดงออกดังนี้

เมื่อท่านทำงาน ท่านต้องรู้ว่าท่านมีหน้าที่ทำงานอะไรที่ต้องรับผิดชอบบ้าง ตาม Job Description ของท่าน ท่านต้องทำหน้าที่ของท่านให้ดีที่สุด ให้งานออกมามีคุณภาพ และเสร็จทันตามเวลาที่ต้องการ
ท่านเป็นผู้ที่ขวนขวายหมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อนำมาพัฒนางานของท่านให้ดียิ่งขึ้นอยู่เสมอ
ท่านเป็นผู้ที่แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ชัดหรือไม่ว่า ท่านมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ และรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มกำลังความสามารถ
ท่านเป็นผู้ที่มีสำนึกความรับผิดชอบในงานที่เป็นส่วนรวมของทีม ของหน่วยงานของท่านหรือไม่ ยินดีเต็มใจให้ความช่วยเหลือเพื่อนร่วมงาน เพื่อให้งานของทีมสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายที่กำหนด

2. หลักความรับผิดชอบในผลงานที่ได้กระทำ (Accountability) การทำงานใดๆ ย่อมมีความสำเร็จและความผิดพลาด หรือ ล้มเหลว เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดา มีผู้กล่าวว่า ผู้ที่ไม่เคยประสบความผิดพลาดเลย คือ ผู้ที่ไม่เคยทำอะไรเลย เพราะฉะนั้น ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจหรือการกระทำของเรา สามารถเป็นพลังเชิงบวกให้เราได้เรียนรู้ความผิดพลาดนั้นๆ และระมัดระวังไม่ให้เกิดความผิดพลาดนั้นซ้ำอีก ซึ่งควรมีพฤติกรรมแสดงออก ดังนี้
ท่านเป็นผู้ที่ยอมรับความผิดพลาดจากงานที่ท่านได้กระทำลงไปด้วยความเต็มใจ
ท่านเป็นผู้ที่ร่วมรับผิดชอบในงานที่ท่านได้มีส่วนร่วมทำกับทีมงาน
ท่านเป็นผู้ที่รับผิดชอบต่อการตัดสินใจ หรือ งานที่ท่านได้มอบหมายให้ผู้ใต้บังคับบัญชาไปปฏิบัติ
ท่านเป็นผู้ที่กล้าบอกเล่าเรื่องราวความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการทำงานของท่านให้เพื่อนร่วมงานได้เรียนรู้ เพื่อระมัดระวังไม่ให้เกิดความผิดพลาดเช่นเดียวกันซ้ำอีก

3.หลักความเท่าเทียมและเป็นธรรม (Equity Treatment) การบริหารกิจการที่ดีผู้บริหารและพนักงานทุกคนต้องให้ความสำคัญต่อความเท่าเทียมและเป็นธรรมสำหรับทุกคนในองค์กร ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบกัน ไม่สร้างความแตกแยกกันด้วยการแบ่งพรรคพวกที่มาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ หรือ มาจากวิชาชีพต่างๆ กัน ต้องให้โอกาสทุกคนได้เติบโตขึ้นในตำแหน่งงานต่างๆ ด้วยความเท่าเทียมกัน ด้วยหลักของคุณธรรมที่อิงความรู้ความสามารถ ไม่ใช่การเติบโตด้วยหลักอุปถัมภ์ที่ใช้เส้นสายพวกพ้องในการเติบโต เราจะพบเห็นว่า ในภาคราชการและรัฐวิสาหกิจ มีการใช้ระบบอุปถัมภ์ในการเติบโตอยู่เป็นส่วนมาก ทำให้ผู้ที่มีความตั้งใจทำงานของตนด้วยความรับผิดชอบ มีผลงานแต่ไม่มีพรรคพวก หมดขวัญกำลังใจในการทำงาน

บางรัฐวิสาหกิจกำหนดไว้เป็นวัฒนธรรมองค์กรเลยนะครับว่า ถ้าไม่จบเภสัช จะไม่ได้รับการพิจารณาให้ขึ้นดำรงตำแหน่งในระดับบริหาร เพื่อสงวนไว้สำหรับวิชาชีพเภสัชเท่านั้น ทั้งๆ ที่ในบางสายงาน ถ้าใช้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถโดยตรงในตำแหน่งนั้น งานจะบรรลุผลสำเร็จดีกว่าหรือไม่ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันนะครับว่า จบเภสัชแล้วเป็นพหูสูต หรืออย่างไร ถึงจะสามารถทำงานได้ทุกสายงานในรัฐวิสาหกิจแห่งนี้
หลักความเท่าเทียมและเป็นธรรมในองค์กร ควรมีพฤติกรรม ดังนี้

ท่านเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญต่อผู้อื่น ซึ่งรวมถึงผู้ที่ด้อยโอกาสกว่าในองค์กร
ท่านเป็นผู้ที่คำนึงถึงหลักความเป็นธรรม ความเสมอภาคในการแบ่งเบาภาระงานที่รับผิดชอบหรือไม่ แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่า ฐานเงินเดือนมากกว่า จะอ้างว่า เพื่อความเท่าเทียมเป็นธรรม ขอรับผิดชอบในปริมาณงาน ความยากง่ายของงาน เท่ากับ เด็กใหม่นะครับ ท่านต้องคำนึงถึงหลักความเท่าเทียมและเป็นธรรมโดยมีพื้นฐานความยุติธรรมเป็นองค์ประกอบด้วยนะครับ
ท่านมีการประเมินผลการทำงานที่เป็นธรรมแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา โดยอิงตามความสามารถ ผลงาน และพฤติกรรมเชิงบวกเป็นประการสำคัญ
ท่านให้ความเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับกิจการของท่าน เช่น ผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้า ด้วยการปฏิบัติที่มีความเสมอภาคเท่าเทียม ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง

4.หลักความโปร่งใส ตรวจสอบได้ (Transparency) การปฏิบัติงานใดๆ ก็ตามถ้ามีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐาน ทำงานด้วยความสำนึกในหน้าที่รับผิดชอบ มีความเป็นธรรม และพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อผลที่ได้กระทำลงไป ก็ย่อมที่จะเป็นผู้ที่กล้าเปิดเผยและให้ตรวจสอบเรื่องต่างๆ ได้
ผมยกตัวอย่างสิ่งที่เราจะคุ้นเคยในการประเมินผลงานประจำปี เพื่อพิจารณาความดีความชอบ เลื่อนขั้น เงินเดือน ตำแหน่งงาน หลายคนอาจเคยประสบปัญหา แคลงใจหัวหน้างานว่าประเมินตนเองด้วยความเป็นธรรมหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนร่วมงานคนอื่น ซึ่งอาจจะมีพฤติกรรมที่เอาเปรียบเพื่อน ทำงานไม่เต็มที่เหมือนที่ท่านปฏิบัติมา ถ้าหัวหน้างานของท่านเป็นผู้ที่มีหลักบรรษัทภิบาล ก็จะประเมินผลการปฏิบัติงานด้วยการยึดหลักความเป็นธรรม และมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้ทำการประเมิน และมีความโปร่งใสที่พร้อมจะอธิบาย แสดงให้เห็นถึงความเป็นธรรมในการประเมินผลการปฏิบัติงานนั้นได้
หลักความโปร่งใสในองค์กร ควรมีพฤติกรรมต่อไปนี้

ท่านเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์ สุจริต ในการทำงาน ไม่ฉกฉวยผลประโยชน์ และแสวงหาผลประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่การงาน
ท่านเป็นผู้ที่มีความพร้อมที่จะถูกตรวจสอบการทำงานของท่านตลอดเวลา
ท่านเป็นผู้ที่สามารถจะอธิบายข้อสงสัยต่างๆ ที่มีต่อผลการปฏิบัติงานของท่านได้อย่างชัดเจน ไม่ปิดบังอำพราง

5.หลักจริยธรรม (Ethics) ปฏิบัติหน้าที่ด้วยการมีจรรยาบรรณในวิชาชีพ จรรยาบรรณในตำแหน่งหน้าที่ที่รับผิดชอบ โดยคำนึงถึงการมีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง จริยธรรม เป็นหลักที่เกินกว่าแค่กฎหมายกำหนด หรือ กฎระเบียบข้อบังคับกำหนด ผมยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ นะครับ มีโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งดำเนินธุรกิจมาเป็นระยะเวลา 20 กว่าปี ต้องการย้ายจากที่ตั้งโรงงานในเขตปริมณฑล ไปอยู่ในพื้นที่แห่งใหม่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมทางภาคอีสาน พนักงานส่วนใหญ่ที่อยู่เดิมมีต้นทุนค่าจ้างแรงงานสูงมาก เพราะเป็นคนงานเก่า ผู้บริหารจึงตัดสินใจเลิกจ้างพนักงานส่วนใหญ่ โดยจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานทุกอย่าง ผมถามว่า สิ่งที่ผู้บริหารโรงงานแห่งนี้ทำไม่ผิดกฎหมาย แต่ ผิดหลักจริยธรรมหรือไม่ ผลที่ตามมาก็คือ พนักงานรวมตัวกันประท้วงเป็นข่าวใหญ่โต เสียชื่อเสียงของบริษัท

มีธนาคารของญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง เพื่อนของผมเคยทำงานอยู่ และต้องปิดตัวลงสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์วิกฤติการทางการเงินในปี 2540 ธนาคารแห่งนี้ จำเป็นต้องเลิกจ้างพนักงานคนไทยที่มีอยู่ประมาณ 40 ชีวิต แต่ก่อนถึงขั้นตอนการเลิกจ้าง นายญี่ปุ่นรวบรวมประวัติและคุณสมบัติของพนักงาน ไปหางานใหม่ให้ลูกน้องทุกคน ได้ทำงานกับบริษัทของชาวญี่ปุ่นด้วยกัน ซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารแห่งนี้ พร้อมกับจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน และ ให้เงินค่าตกใจเพิ่มให้อีก 2 เดือน

ท่านผู้อ่านพอจะเริ่มเห็นภาพของคำว่า จริยธรรม ขึ้นบ้างมั๊ยครับ
เราเป็นผู้ผลิตสินค้า เราต้องมีความรับผิดชอบต่อลูกค้า ด้วยการผลิตสินค้าที่ดีมีคุณภาพ เป็นไปตามข้อตกลง ไม่เอาเปรียบลูกค้า ส่งมอบสินค้าให้ตรงตามกำหนด และรับประกันความพึงพอใจของลูกค้า ท่านลองนึกดูครับว่า มีอะไรที่เป็นข้อกำหนดทางกฎหมายบ้างหรือไม่ ทุกอย่าง เป็นเรื่องของการมีจิตสำนึกที่ต้องปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างมีจริยธรรมนะครับ

องค์กรต้องกำหนด แนวทางการประพฤติปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม (Code of Conduct) เพื่อไว้เป็นกรอบของการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างเป็นรูปธรรม

มีคำกล่าวว่า “ถ้าเราปฏิบัติตามกฎระเบียบ (Code of Conduct) อย่างเป็นธรรมชาติเช่นเดียวกับการหายใจ เมื่อนั้น กฎระเบียบก็ไม่มีความหมาย” เราจะพบว่า หลายองค์กรมีการออกระเบียบใหม่ๆ ออกมามากมาย เพราะพบว่า มีช่องโหว่ที่ทำให้พนักงานสามารถทุจริตได้ ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตเวลา เอาเวลางานหมดไปกับเรื่องส่วนตัว หมดไปกับการเล่น Line , Facebook และกิจกรรมอื่นๆ ที่ส่งผลเสียต่อคุณภาพและปริมาณงาน
คำถามก็คือ พื้นฐานของปัญหานี้มาจาก การขาดสำนึกในหน้าที่ความรับผิดชอบ (Responsibility) ใช่หรือไม่ มีปัญหามาจากการเห็นตัวอย่างที่ไม่ดี ของเพื่อนร่วมงานรวมถึงหัวหน้างานใช่หรือไม่ มีปัญหามาจากต้องการความเท่าเทียมเป็นธรรม คนอื่นทำได้ ฉันก็ต้องทำได้ ใช่หรือไม่
ท่านต้องหมั่นตอกย้ำ จริยธรรมที่พึงประสงค์ขององค์กรของท่าน ลงไปในจิตใต้สำนึกของพนักงานทุกคนในองค์กร ทำบ่อยๆ และส่งเสริมคนดีต้นแบบ ให้ได้รับโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

6.หลักการมีส่วนร่วม (Participation) พนักงานทุกคน ทุกระดับในองค์กร ต้องการมีความรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรนะครับ ไม่ว่าเขาจะทำงานในตำแหน่งหน้าที่ใด จะเป็นเพียงเสมียนตัวเล็กๆ หรือ ผู้จัดการใหญ่ เขาก็ต้องการรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กร หลายองค์กรมีกล่องรับความคิดเห็นเพื่อให้พนักงานได้มีส่วนร่วมและโอกาสในการแสดงความเห็น บางบริษัทก็ทำได้ดี มีพนักงานแสดงความเห็นมากมาย หลายความเห็นถูกนำไปปฏิบัติ นำไปปรับปรุงแก้ไข หลายความเห็นก็ได้รับรางวัลตอบแทน ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้พนักงานยิ่งช่วยกันเสดงความเห็นกันมากขึ้น

แต่บางองค์กร กล่องรับความคิดเห็นกลับมีแต่ความว่างเปล่า เพราะพนักงานเคยมีประสบการณ์ว่า ผู้บริหารไม่เคยเหลียวแล พิจารณาความเห็นของพวกเขาเลย

การสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงาน ควรเริ่มจากให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการรับรู้เรื่องราวต่างๆ ให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น มีส่วนร่วมในการคิดพิจารณาตัดสินใจ และมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อภารกิจสำคัญต่างๆ ขององค์กร
เป้าหมายสำคัญ ก็คือ เพื่อให้พนักงานทุกคนรู้สึกว่า พวกเขาเป็นส่วนสำคัญขององค์กร
ท่านเปิดโอกาสให้เพื่อนร่วมงาน หรือ ลูกน้องของท่านมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมาย วางแผน ตัดสินใจ บ้างหรือยัง
ท่านเปิดโอกาสให้เพื่อนร่วมงานมีส่วนร่วมรับผิดชอบในภารกิจสำคัญ ที่จะนำมาซึ่งความภาคภูมิใจในผลงานบ้างหรือยัง
ท่านเปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมต่อการกำหนดทิศทาง เป้าหมาย วิสัยทัศน์ขององค์กรบ้างหรือยัง

7.หลักการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่กิจการ (Value Creation) ผมว่า ถ้าทุกคน มีพื้นฐานสำคัญของบรรษัทภิบาลทั้ง 6 ประการที่กล่าวมาข้างต้น หลักการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่กิจการก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพียงแต่สิ่งที่ต้องระวังก็คือ กิจการหลายแห่งมักจะกำหนดเป้าหมายธุรกิจไว้ที่รายได้ และ กำไร จนลืมกำหนดเป้าหมายที่ความพึงพอใจของลูกค้า และความพึงพอใจของพนักงาน

ท่านต้องไม่ลืมนะครับว่า พนักงานที่มีขวัญกำลังใจที่ดี ย่อมนำมาซึ่งการบริการลูกค้าที่ดี และลูกค้าที่มีความพึงพอใจต่อสินค้าบริการ จนกลายเป็นลูกค้าที่มีความภักดี ย่อมนำมาซึ่งรายได้และกำไรที่งดงาม

วันนี้ ท่านมองข้ามอะไรที่สำคัญกว่า รายได้ และ กำไร ไปหรือเปล่า

ผมสอนลูกศิษย์ของผมว่า มีคำ 3 คำ ที่เราต้องคำนึงถึงในการดำเนินธุรกิจ ก็คือ Effectiveness (ประสิทธิผล) Efficiency (ประสิทธิภาพ) และ Productivity (ผลผลิต) ท่านผู้อ่านสามารถหาอ่านคำนิยามได้จากบทความทั่วๆ ไป นะครับ แต่ผมจะขออธิบายเพิ่มเติมเพื่อให้เห็นลำดับความสำคัญของทั้ง 3 คำนี้ ในเชิงปฏิบัติ

ประสิทธิผล คือ ผลผลิตที่มีคุณภาพที่ผลิตได้เมื่อเทียบกับเป้าหมายที่กำหนด เช่น ผมกำหนดเป้าหมายต้องการชิ้นงาน 100 ชิ้นต่อวัน (หมายถึงชิ้นงานที่มีคุณภาพสมบูรณ์ 100%) ถ้าทำได้บรรลุเป้าหมายก็แสดงว่า มีประสิทธิผลเต็มร้อย ซึ่งในทางปฏิบัติ สำหรับพนักงานที่ไม่เคยทำงานเรื่องนี้มาก่อนเลย เป็นเรื่องใหม่สำหรับเขา ท่านต้องเน้นคุณภาพของงานที่ถูกต้องก่อนนะครับ อย่างพึงไปเน้นที่จำนวน หรือ ปริมาณงานที่ทำได้ ให้เขาเข้าใจว่า งานที่ถูกต้องคืออะไร ทำให้ถูก กำหนดเป้าหมายเริ่มต้นด้วยจำนวนที่ไม่สูงนัก เพื่อให้เขาได้เรียนรู้คุณภาพที่ถูกต้องก่อน แล้วค่อยเพิ่มเป้าหมายให้สูงขึ้นต่อไป

ประสิทธิภาพ คือ ผลผลิตที่ได้ เมื่อเทียบกับทรัพยากรที่ใช้ไป เช่นพนักงานที่มีศักยภาพสูง 1 คนทำงาน ได้ 100 ชิ้นต่อวัน ถ้ามีต้นทุนการจ่ายค่าจ้างแรงงานต่อวันเท่ากัน พนักงานใหม่ทำงานได้ 50 ชิ้นต่อวัน ก็แสดงว่ามีประสิทธิภาพ เพียงแค่ 50% แต่ใน 50 ชิ้นนั้น ต้องมีคุณภาพเต็มร้อย ด้วยนะครับ เพราะฉะนั้น ประสิทธิภาพ คือ ปริมาณงานที่ทำออกมาได้

ผลผลิต คือ ทำอย่างไรที่จะทำให้ได้ชิ้นงานที่มีคุณภาพเพิ่มสูงขึ้น โดยที่ใช้ทรัพยากรน้อยลง ซึ่งก็คือการนำ หลักการของประสิทธิผล และ ประสิทธิภาพ มาผสมผสานกัน

ซึ่งกิจการที่มีหลักบรรษัทภิบาลที่ดี ต้องคำนึงถึงการสร้างนวัตกรรม เพื่อให้ได้ผลผลิตของกิจการเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่า จะเป็นความพึงพอใจของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น ความภักดีของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น ยอดขายที่เพิ่มขึ้น และกำไรที่เพิ่มขึ้น

ถ้าองค์กรของท่านจะนำหลักการบรรษัทภิบาลไปใช้ให้เกิดผลสำเร็จ ต้องเริ่มต้นที่ตัวท่านเองเสียก่อน ขยายผลไปสู่เพื่อนร่วมงานใกล้ตัว ทีมงานของท่าน และองค์กร

แต่ถ้ามองในมุมของเจ้าของกิจการ ถ้าอยากให้บรรษัทภิบาล เป็นกลยุทธ์ที่จะนำมาซึ่งความยั่งยืนได้จริง ท่านต้องส่งเสริม สนับสนุนให้คนดีต้นแบบบรรษัทภิบาล มีที่ยืนอย่างสง่าผ่าเผย แล้วธุรกิจของท่านก็จะเติบโตอย่างยั่งยืน สง่าผ่าเผยเช่นเดียวกัน

 
ใส่ความเห็น

Posted by บน ธันวาคม 13, 2014 นิ้ว Management, SMEs Strategy

 

ป้ายกำกับ: , , ,

ใส่ความเห็น