RSS

การอ่านหนังสือของคนไทย

21 ต.ค.


ดร.พงศ์ศรันย์  พลศรีเลิศ

phongzahrun@gmail.com

เมื่อวันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม 2556 ผมได้ให้สัมภาษณ์รายการ SMART SME วิทยุครอบครัวข่าว FM 106 MHz มีคุณปุ๊ก สมาพร ชูกิจ เป็นผู้ดำเนินรายการ ถึงประเด็น “การอ่านหนังสือของคนไทย” คนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัดจริงหรือไม่? และทำอย่างไรที่จะทำให้คนไทยอ่านหนังสือกันมากขึ้น เลยนำมาถ่ายทอดเป็นบทความให้ได้อ่านกันนะครับ

ถาม อาจารย์คะ ช่วงนี้ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กำลังมีงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 18 ซึ่งจะมีไปจนถึงวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม นี้นะคะ  ภายในงานจะได้พบกับการออกบูธและการจำหน่ายหนังสือในราคาพิเศษจากสำนักพิมพ์ชั้นนำกว่า 400 แห่งทั่วประเทศ ที่นำกองทัพหนังสือดีคุณภาพเยี่ยมมาเอาใจคนรักการอ่าน รวมถึงกิจกรรมที่น่าสนใจให้ร่วมสนุกอีกมากมาย ก็เลยเป็นที่มาของการคุยกันในสัปดาห์นี้ ว่าด้วยเรื่องของ “ธุรกิจการอ่าน” นะคะ อาจารย์ได้ไปเดินเที่ยวชมงาน หาซื้อหนังสือที่ถูกใจบ้างหรือยังคะ

ตอบ งานนี้ยังไม่ได้ไปเดินเที่ยวชมเลยครับ ตั้งใจว่าจะไปเร็วๆ นี้ล่ะครับ แต่เป็นที่น่าสังเกตุนะครับว่า นอกจากการส่งเสริมการตลาดด้วยการลดราคาหนังสือแล้ว ก็ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจนะครับ เช่น การเปิดตัวหนังสือใหม่  การพบปะแบบใกล้ชิดกับผู้เขียนหนังสือที่เราชื่นชอบ กิจกรรมการแสดงบนเวที สำหรับเด็กๆ ที่ถ่ายทอดตัวหนังสือออกมาเป็นตัวละครเวทีเล็กๆ ซึ่งทำให้งานมีสีสรร และน่าสนใจ โดยเฉพาะในช่วงเวลาปิดเทอมแบบนี้ ผมว่า คุณหนูๆ หนอนหนังสือ คงจะได้สนุกสนาน เพลิดเพลินกับการเลือกซื้อหนังสือที่ตัวเองโปรดปราน

กิจกรรมงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ เป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนให้กรุงเทพฯ  เป็น “เมืองหลวงหนังสือโลก” ที่เข้มแข็งขึ้นนะครับ ตรงนี้ผมขอเล่าให้คุณผู้ฟังได้ทราบที่มาสักนิดนะครับ คณะกรรมการตัดสินเมืองหนังสือโลก ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนจากสมาคมผู้จัดพิมพ์นานาชาติ (IPA) สหพันธ์ผู้จำหน่ายหนังสือนานาชาติ (IBF) สหพันธ์สมาคมและสถาบันห้องสมุดนานาชาติ (IFLA) และองค์การยูเนสโก ได้จัดการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวที่ประเทศฝรั่งเศส โดยมี 7 เมืองที่เสนอเข้ารับการคัดเลือกเป็นเมืองหนังสือโลก ในปี 2556 ได้แก่ 1.กรุงเทพฯ ประเทศไทย 2.ไคโร สาธารณรัฐอาหรับแห่งอียิปต์ 3.อินเชิน สาธารณรัฐเกาหลีใต้ 4.เควซอน ประเทศฟิลิปปินส์ 5.ควิโต ประเทศเอกวาดอร์ 6.ชาร์เรีย ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ 7.เสินเจิ้น สาธารณรัฐประชาชนจีน และ กรุงเทพมหานคร ได้รับการคัดเลือกเป็นเพียง 1 เดียวประจำปี 2556 นี้ โดยปีนี้เป็นปีที่ 13 ที่ได้มีการคัดเลือกเมืองหนังสือโลก ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของคนไทยนะครับคุณปุ๊ก

ถาม อาจารย์คะ ปุ๊กเคยได้ยิน สถิติเกี่ยวกับการอ่านของคนไทย ที่ฮือฮากันอยู่ช่วงหนึ่งนะคะว่า คนไทยเราอ่านหนังสือกันโดยเฉลี่ยเพียงปีละ 7-8 บรรทัด เท่านั้นเองค่ะ อาจารย์มีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไรบ้างคะ

ตอบ ผมจำได้ว่า คำพูดว่าคนไทยอ่านหนังสือเพียงปีละ 7-8 บรรทัด มาจากภาพยนต์เรื่อง ทวิภพ ที่นางเอกย้อนเวลาผ่านกระจกเข้าไปในยุคสมัยของรัชกาลที่ 5 แล้วท่านเจ้าคุณที่เป็นพระเอกได้พานางเอกเข้าไปเยี่ยมชมคลังแสงอาวุธของประเทศสยามในสมัยนั้น นั่นก็คือ หอสมุด ที่รวบรวมหนังสือ ตำรา ชั้นนำจากต่างประเทศมาไว้ให้คนไทยได้มีโอกาสศึกษากัน  แน่นอนครับว่าหลายคนไม่เห็นด้วยกับสถิติที่ว่า คนไทยอ่านหนังสือกันเพียงปีละ 8 บรรทัด อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมายังคงมีข้อมูลออกมาอย่างต่อเนื่องที่บอกว่า คนไทยอ่านหนังสือกันน้อยอยู่ นะครับ

อย่างสถิติการอ่านหนังสือล่าสุดของคนกรุงเทพฯ คาดว่าจะมีการอ่านประมาณ 2-5 เล่มต่อคนต่อปี กรุงเทพมหานครจึงตั้งเป้าว่าปี 2556 จะมีอัตราการอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นเป็น 10 เล่มต่อคนต่อปี

เมื่อนำตัวเลขของไทยมาวางเทียบกับสมาชิกอาเซียนพบว่า “การอ่านของคนไทยอยู่ในระดับวิกฤติ ขณะที่คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยปีละ 2-5 เล่ม แต่สิงคโปร์เฉลี่ยคนละ 50-60 เล่มต่อปี แต่ที่น่าตกใจยิ่งกว่า คือเวียดนามมีอัตราการอ่าน 60 เล่มต่อคนต่อปี

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจการอ่านหนังสือของประชากร ล่าสุด เมื่อปี พ.ศ.2554 พบว่า มีอัตราการอ่านหนังสือของคนวัย 6 ปีขึ้นไป อยู่ร้อยละ 68.6 เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ที่มีอยู่ร้อยละ 66.2 ส่วนใหญ่อ่านหนังสือพิมพ์ นวนิยาย การ์ตูน นิตยสาร และตำราหนังสือเอกสารที่ให้ความรู้

ความน่าสนใจของการสำรวจอยู่ตรงนี้ครับ ความถี่ของการอ่านหนังสือ อ่านทุกวันคิดเป็นร้อยละ 5 เท่านั้นเองครับ อ่านสัปดาห์ละ 4-6 วัน คิดเป็นร้อยละ 3 อ่านสัปดาห์ละ 2-3 วัน คิดเป็นร้อยละ 6 อ่านสัปดาห์ละ 1 วัน คิดเป็น ร้อยละ 3 และที่เหลือก็นานๆอ่านที เพราะฉะนั้นไม่แปลกนะครับ ที่ทำไมเราถึงมีอัตราการอ่าน 7-8 บรรทัดต่อปี เพราะว่านี่คือ อัตราเฉลี่ยการอ่านหนังสือของคนไทยทั้งประเทศครับ

ถาม อาจารย์คะ ปุ๊กจำเรื่องราวที่คนรุ่นพ่อรุ่นปู่ จะเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนตอนที่ท่านเด็กต้องเรียนหนังสือจากตำราแบบเรียน และกระดานชนวน หนังสือที่มีส่วนใหญ่ก็จะเป็นแบบเรียน นิตยสาร หนังสือนิยาย ก็พึ่งจะเริ่มตีพิมพ์กันอย่างแพร่หลายในช่วงเวลายังไม่ถึง 100 ปี นะคะ คนไทยทั่วไปโดยเฉพาะในชนบทจะได้อ่านหนังสือน้อยมาก ความรู้ ความคิด ความอ่านจึงมาจากฟังพระเทศน์เป็นสำคัญ ขณะที่ความบันเทิงมาจากการดูมหรสพ ลิเก ฟังวิทยุ มากกว่าการอ่านนิยาย การเข้ามาของโทรทัศน์ ได้แย่งชิงคนอ่านให้กลายเป็นคนดูพอสมควร เลยนะคะ

ตอบ เห็นด้วยเลยครับคุณปุ๊ก จากสถิติการสำรวจการอ่านหนังสือ ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า สาเหตุที่คนไทยไม่อ่านหนังสือ 5 อันดับแรก มาจาก

อันดับที่ 1 ดูโทรทัศน์ ร้อยละ 35

อันดับที่ 2 ไม่มีเวลาอ่าน ร้อยละ 24

อันดับที่ 3 ไม่ชอบอ่าน ร้อยละ 19

อันดับที่ 4 อ่านหนังสือไม่ออก ร้อยละ 9

และอันดันที่ 5 สายตาไม่ดี ร้อยละ 7

อย่างที่คุณปุ๊กบอกนะครับ โทรทัศน์กลายเป็นสื่อที่ทำให้คนไทยไม่อ่านหนังสือ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การมีโทรทัศน์เป็นสิ่งไม่ดีนะครับ ปัจจุบันผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ต่างให้ความสำคัญต่อการผลิตรายการที่มีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งมีทั้งรายการที่เป็นสาระความรู้ และรายการบันเทิง ผมว่าหลายคนก็เลือกที่จะหาความรู้ผ่านทางสื่อโทนทัศน์แทนการอ่านนะครับ

ถาม อาจารย์คะ ถึงแม้ว่ารายการโทรทัศน์จะให้ความรู้และความบันเทิงได้ ก็น่าจะให้ประโยชน์ได้ไม่เท่ากับการอ่านหนังสือนะคะ

ตอบ คุณปุ๊กครับ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงบรรยายถึงความสำคัญของการอ่านหนังสือ ไว้ ดังนี้ครับ

1. การอ่านหนังสือทำให้ได้เนื้อหาสาระความรู้มากกว่าการศึกษาหาความรู้ด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การฟัง

2. ผู้อ่านสามารถอ่านหนังสือได้โดยไม่มีการจำกัดเวลาและสถานที่ สามารถนำไปไหนมาไหนได้

3. หนังสือเก็บได้นานกว่าสื่ออย่างอื่นซึ่งมักมีอายุการใช้งานจำกัด

4. ผู้อ่านสามารถฝึกการคิดและสร้างจินตนาการได้เองในขณะอ่าน

5. การอ่านส่งเสริมให้มีสมองดี มีสมาธินานกว่าและมากกว่าสื่ออย่างอื่น ทั้งนี้ เพราะขณะอ่าน จิตใจจะต้องมุ่งมั่นอยู่กับข้อความ พินิจพิเคราะห์ข้อความนั้นๆ

6. ผู้อ่านเป็นผู้กำหนดการอ่านได้ด้วยตนเอง จะอ่านคร่าวๆ อ่านละเอียด อ่านข้ามหรืออ่านทุกตัวอักษรเป็นไปตามใจของผู้อ่านหรือจะเลือกอ่านเล่มไหนก็ได้ เพราะหนังสือมีมาก  สามารถเลือกอ่านเองได้

7. หนังสือมีหลากหลายรูปแบบและราคาถูกกว่าสื่ออย่างอื่น จึงทำให้สมองของผู้อ่านเปิดกว้าง สร้างแนวคิดและทัศนคติได้มากกว่า ทำให้ผู้อ่านไม่ติดยึดอยู่กับแนวคิดใดๆโดยเฉพาะ

8. ผู้อ่านเกิดความคิดเห็นได้ด้วยตนเองวินิจฉัยเนื้อหาสาระได้ด้วยตนเอง รวมทั้งหนังสือบางเล่มสามารถนำไปปฏิบัติแล้วเกิดผลดี

ฟังจากข้อดีของการอ่านทั้ง 8 ประการ ผมว่าเราก็ควรสนับสนุนให้ศึกษาหาความรู้จากการอ่านกันมากขึ้นนะครับ ซึ่งการอ่านหนังสือหมายถึงหนังสือ รวมทั้งตำราเรียน ตลอดจนการอ่านจากอินเทอร์เน็ต หรือ แอพพลิเคชั่นต่างๆ ด้วยนะครับ

อย่างชีวิตคนในเมืองไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพ ปริมณฑล หรือ เมืองใหญ่ๆ ในแต่ละภาคของประเทศ ก็มีวิถีชีวิตที่อยู่กับสมาร์ทโฟนกันมากขึ้น เราก็สามารถให้เวลากับการอ่านหนังสือผ่านทางสมาร์ทโฟนได้นะครับ

ถาม วันนี้อาจารย์คุยกับปุ๊กเรื่อง การอ่านหนังสือของคนไทย ในความรู้สึกของอาจารย์ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับการอ่านหนังสือ มีอะไรที่อาจารย์รู้สึกเป็นห่วงต่อการอ่านหนังสือของคนไทยบ้างมั๊ยคะ

ตอบ คุณปุ๊กครับ โดยส่วนตัวของผม ผมจะให้ความสำคัญกับการอ่านมากนะครับ ความรู้ที่ผมนำมาสอนให้กับนักศึกษา หรือ ไปเป็นวิทยากรบรรยายให้กับหน่วยงานต่างๆ ผมก้ได้มาจากการอ่านทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมาจากการอ่านหนังสือ หรือว่า ค้นคว้าหาความรู้จากทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งการอ่านจะทำให้ผมเกิดข้อสงสัย ตั้งประเด็นปัญหา แล้วก็สืบค้นต่อไปจากหนังสืออื่นๆ อีก

ปัญหาที่ผมพบก็คือ อาจารย์บางท่านเวลาสอนนักศึกษาก็มักจะใช้ตำราเล่มเดียวเป็นหลัก บางทีก็ใช้มาเป็นเวลานานจนบางทีมีองค์ความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นก็ยังไม่เปลี่ยน การใช้ตำราเล่มเดียวโดยไม่อ่านหาความรู้จากตำราเล่มอื่น ก็เหมือนการทำวิจัยที่ไม่มีการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องนะครับ ความรู้มันจะไม่กว้าง และไม่ลึกพอ

ปัญหาที่ผมพบอีกประการก็คือ ผู้เรียน หรือนักศึกษา ผมว่ามีนักศึกษาที่ให้ความสำคัญต่อการอ่านน้อยลง จะอ่านก็ต่อเมื่อจะสอบ แล้วก็ไม่อ่านล่วงหน้า หรือ อ่านทบทวนหลังจากการเรียนในแต่ละหัวข้อ อันนี้ก็ต้องใช้ไม้นวม ไม้แข็ง ประกอบกันไปในแต่ละสไตล์ของอาจารย์แต่ละท่านนะครับ

สำหรับปัญหาการอ่านของคนไทย สำหรับคนกรุงเทพฯ ที่ใช้เวลาอยู่กับการเดินทาง และสมาร์ทโฟน เสียเป็นส่วนใหญ่ ผมว่า การใช้ E-Book โหลดมาอ่านบนสมาร์โฟน ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีแทนการพกหนังสือไปอ่าน ซึ่งเหมาะสมกับ Life style ของคนกรุงเทพฯ

สำหรับคนต่างจังหวัด ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ยังมีอัตราการอ่านหนังสือน้อยอยู่ ผมว่าน่ากังวลยิ่งกว่าคนเมือง คำถามสำคัญก็คือว่าหนังสือที่มีวางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด สามารถตอบสนองกลุ่มคนในชนบทได้มากน้อยแค่ไหน

“ถ้าเกิดชาวบ้านอ่านหนังสือแล้วถามกลับมาว่าอ่านแล้วไม่เห็นจะทำนาทำไร่ดีขึ้นเลย ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเขา เหตุใดเขาต้องหยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน”

ฉะนั้นปมปัญหาหลักอยู่ที่เนื้อหาหนังสือที่วางขายตามท้องตลาดไม่ได้ตอบโจทย์คนอีกหลายกลุ่มในประเทศ หากอยากทำให้การอ่านหนังสือแพร่หลายทั่วไทย สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาก็คือ การผลิตเนื้อหาหนังสือควรสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนแบบครอบคลุม ไม่ใช่คนแค่หยิบมือเดียว

คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในเมือง แต่หนังสือหรือนิตยสารส่วนใหญ่บนแผงหนังสือ เลือกตอบโจทย์แค่คนเมือง นั่นเพราะยังไงก็ขายได้ แต่ใช่ว่ากลุ่มเป้าหมายที่เหลือไม่มีกำลังซื้อ เพียงแต่ยังไม่มีใครกล้าเสี่ยงมาลองทำการตลาดกับคนกลุ่มนี้ นะครับคุณปุ๊ก

ในช่วงท้ายผมขอพูดถึงสถิติการอ่านหนังสืออีกสักตัวนะครับ จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2554 พบว่า ร้อยละ 97 ของเด็กที่อ่านหนังสือที่มีอายุไม่เกิน 5 ปี เป็นกลุ่มที่มีผู้ใหญ่มีส่วนร่วมในการอ่านหนังสือด้วยนะครับ ส่วนที่เหลืออีก ร้อยละ 3 อ่านหนังสือคนเดียวตามลำพัง เพราะฉะนั้น การปลูกฝังให้เด็กรักการอ่านหนังสือ ต้องเริ่มที่ผู้ใหญ่ ให้เวลากับการอ่าน ร่วมกับลูกหลานของท่าน ผมว่าอนาคตน่าจะมีคนไทยอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้นแน่นอนครับ

 
ใส่ความเห็น

Posted by บน ตุลาคม 21, 2013 นิ้ว SMEs Strategy

 

ใส่ความเห็น